สะพานมิตรภาพแม่น้ำเหืองไทย-ลาว

สะพานมิตรภาพแม่น้ำเหือง 
ไทย-ลาว

 

000

ประวัติความเป็นมา

             สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว  ได้มีพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อ 16 น.วันพฤหัสบดีที่ 28 ต.ค.2547 โดย ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และนายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวร่วมกัน เป็นประธาน

สองรัฐมนตรีจับมือกันอย่างแนบแน่น พร้อมรอยยิ้มอันชื่นมื่น เสมือนบอกให้ทราบว่า ความสัมพันธ์ไทยและลาวจากนี้ไปจะใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง  นี่คือเส้นทางสายใหม่ที่อีกไม่นานก็จะเป็นเส้นทางลัดไปสู่เมืองมรดกโลกหลวงพระบางสำหรับชาวไทย และเป็นเส้นทางลัดสู่ “บางกอก” สำหรับชาวลาว

oo

              คนบนสองฝั่งแม่น้ำเหืองติดต่อค้าขายกันมานานโดยใช้เรือข้ามฟาก ยิ่งช่วงไหนน้ำลด แม่น้ำเหืองก็จะแคบมาก ต่อแพข้ามมาได้สบายๆ  ปัจจุบันคนทั้งสองฝั่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันทางเรือ คนไทยจะนิยมซื้อสินค้าเกษตร เช่น ลูกเดือย ข้าวโพด ไม้ จากลาว ส่วนคนลาวจะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย

ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่าง จ.เลย และแขวงไชยบุรี ที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการค้าอยู่ราวๆ ปีละ 800 ล้านบาท แต่นายวิทูรย์ พัฒนชัยกุล อดีตประธานหอการค้า จ.เลย บอกว่า ถ้านับรวมการค้าขายอย่างไม่เป็นทางการแล้วละก็ จะมีมากกว่าพันล้านบาท และคาดว่ามูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หลังมีการใช้สะพานแห่งนี้

              แม่น้ำเหืองมีต้นกำเนิดจากภูเขียว ประเทศลาว ไหลมาเป็นแนวแบ่งเขตแดนไทยและลาว ด้าน อ.นาแห้ว อ.ด่านซ้าย และอ.ท่าลี่ จ.เลย ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านท่าดีหมี อ.เชียงคาน รวมความยาวประมาณ 140 กม.

o

              ด้วยความใกล้ชิดของคนในดินแดนสองฝั่ง ทำให้เกิดความคิดที่จะมีการก่อสร้างสะพานมาตั้งแต่ปี 2536 แต่ด้วยติดขั้นตอนหลายประการ ทำให้โครงการนี้ล่าช้าออกไป มีการวางศิลาฤกษ์โครงการฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลไทยเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ 43.075 ล้านบาท

สะพานมิตรภาพน้ำเหืองเป็นสะพานคอนกรีตยาว 110 เมตร กว้าง 9 เมตร พร้อมทางเท้าข้างละ 1.50 เมตร เชื่อมถนนฝั่งไทยยาว 689 เมตร ผิวจราจรกว้าง 7 เมตร และเชื่อมถนนฝั่งลาว ยาว 2.133 กม. (บรรจบทางหลวงหมายเลข 4) ผิวจราจร 7 เมตร

บัดนี้จุดผ่านแดนบริเวณสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ได้รับการยกระดับเป็นช่องทางผ่านระหว่างประเทศ มีการตั้งด่านตรวจทั้งสองฝั่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทั้งสองฝั่งที่ถือหนังสือเดินทาง นับเป็นด่านสากลแห่งแรกของไทยไปยังแขวงไชยะบุรี ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับไทยถึง 6 จังหวัด

ที่ตั้งและการเดินทาง

                ตั้งอยู่ที่บ้านนากระเซ็ง เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเหือง เชื่อมระหว่างไทย – สปป.ลาว สะพานนี้สามารถเดินทางผ่านไชยะบุรี สู่เมืองมรดกโลก คือ หลวงพระบางได้ ระยะทาง 363 กิโลเมตร หรือเดินทางข้ามไปท่องเที่ยวและซื้อสินค้าปลอดภาษี บริเวณร้านค้าใกล้สะพานฝั่ง สปป.ลาวได้

00

 การเดินทาง

            ใช้เส้นทางเลย – ท่าลี่ ระยะทาง 47 กิโลเมตร เมื่อถึงตัวอำเภอเลี้ยวขวาประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงพระธาตุสัจจะให้เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร

การข้ามแดนที่บริเวณสะพานมิตรภาพแม่น้ำเหืองไทย-ลาว

1. กรณีไม่มีพาสปอร์ต จะต้องไปติดต่อขอทำเอกสารที่ว่าการอำเภอท่าลี่ หรือสำนักงานทำบัตรผ่านแดนบริเวณที่ใกล้กับสะพานได้ โดยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รูปถ่าย 2 รูป ค่าธรรมเนียม 40 บาท บัตรผ่านแดนจะมีอายุ 3 วัน สามารถเดินทางไปได้แค่แขวงไชยะบุรี

2. กรณีที่นำรถเข้าจะต้องประสานงานไปที่ขนส่งก่อน โดยใช้คู่มือรถไม่ได้ค้างภาษี บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ หนังสือรับรอง กรมธรรม์ประกันภัยของไทยและลาว (ของลาวจำหน่ายที่บริเวณจุดผ่านแดน)  เส้นทางท่าลี่-แขวงไชยะบุรี จากสะพานเป็นถนนลาดยาง 2 กิโลเมตร นอกนั้นเป็นทางลูกรัง สอบถามรายละเอียดได้ที่ที่ว่าการอำเภอท่าลี่ โทร. 0 4288 9359 และด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าลี่ โทร. 0 4288 9208

0000

 

ที่มา : thai.tourism.com : http://thai.tourismthailand.org/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7/%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A7–3590

ใส่ความเห็น